วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

ความหมายและที่มา






ความหมายและที่มาของศิลปะสากล

                ศิลปะสากล มีพื้นฐานมาจากศิลปะตะวันตก ได้วิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย มีอิทธิพลไปยังชาติต่าง ๆ ในโลกอย่างกว้างขวางมาก จนปัจจุบันชาติต่าง ๆ มีศิลปะที่สร้างขึ้นโดยทั่วไปเป็นแบบศิลปะสากลแทบทั้งสิ้น เพราะคำว่า “สากล” มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “ทั้งหมด ทั้งสิ้น ทั่วไป และระหว่างประเทศ” ศิลปะสากลจึงเป็นศิลปะที่มีการผสมผสานแนวความคิดตลอดจนรูปแบบต่าง ๆ ไว้อย่างกว้างขวาง การใช้วัสดุ อุปกรณ์ และวีธีการสร้างสรรค์ได้โดยอิสระ ผลงานที่ปรากฏออกมาไม่ยึดถือแบบอย่างของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อคนชาติอื่นมองแล้วเข้าใจในผลงานนั้น ๆ ได้เพราะมีความเป็นนานาชาติ แตกต่างไปจากศิลปะประจำชาติ เช่น ศิลปะไทยหรือศิลปะอินเดีย และศิลปะของชนชาติอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรือของชนชาตินั้นอย่างชัดเจน

                ถ้าจะเปรียบเทียบกับศิลปะไทยซึ่งมีเอกลักษณ์ของไทยโดยเฉพาะ ได้แก่ การใช้เส้นอย่างอ่อนช้อย สวยงาม ระบายด้วยสีเรียบ ๆ ลักษณะท่าทางต่าง ๆ จะเหนือความเป็นจริง เป็นศิลปะแบบอุดมคติ (IDEALISTIC) ส่วนศิลปะสากลจะมีความงามตามแนวความคิดไปอีกหลายลักษณะ

                ศิลปะที่มีแบบเป็นสากลนี้เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยใหม่ (M0dern Period) เพราะยุคสมัยนี้โลกมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัฒนธรรม สังคม การคมนาคม และจากเทคโนโลยีแผนใหม่อีกหลายด้าน ผู้ที่ทำงานศิลปะยังได้มีการค้นคว้าหารูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ ออกไปอีก ศิลปะแบบสากลมีความก้าวหน้ามาก ในราวศตวรรษที 19 ณ ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นศูนย์กลางของศิลปะสากล เรียกระยะนี้ว่า “อิมเพรสชั่นนิสม์” (Impressionism) เป็นระยะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากศิลปะสมัยเก่ากับศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะในระยะนี้จึงเรียกว่า “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) ได้แพร่ขยายออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยเราได้เริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะที่เป็นแบบสากลในยุคสมัยของอาจารย์ศิลปะ พีระศรี มีศิลปินของไทยหลายคนได้สร้างสรรค์งานศิลปะแบบสากลได้อย่างมีคุณค่าเช่นเดียวกับผลงานของศิลปินประเทศอื่น ๆ ได้เช่นกัน

คุณค่าของศิลปะสากล

                ศิลปะสากลนั้นได้แพร่หลายไปยังชาติต่าง ๆ อย่างมากมาย ทำให้ศิลปินหลายชาติได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสากลอย่างมีคุณค่า ดังนี้

1.ศิลปะสากลเป็นศิลปะที่แสดงถึงความเป็นกลาง โดยอาศัยเทคนิควิธีการตามแนวเดียวกัน เช่น การใช้เส้น สี แสงเงา เป็นต้น

2.มีการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ไม่แสดงออกเพียงลักษณะของชาติใดชาติหนึ่ง

3.เป็นสื่อความหมายสร้างความเข้าใจร่วมกันโดยทั่วไป ตามแนวความคิดและความเชื่อร่วมกันในสังคม

4.ผู้สร้างสรรค์มีโอกาสแสดงออกได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดอยู่ในขอบเขต และกฎเกณฑ์ที่ตายตัว

5.ผู้ชมผลงานมีโอกาสชื่นชมได้อย่างกว้างขวางตามแนวความคิด เทคนิควิธีการที่ก้าวหน้า

รูปแบบของศิลปะสากล

                ศิลปะสากลได้แบ่งรูปแบบออกตามลักษณะของงานที่สร้างสรรค์ได้ 3 รูปแบบ คือ

1.  รูปแบบทางรูปธรรม เป็นผลงานศิลปะสากลที่แสดงรูปแบบที่มีรูปภาพหรือรูปร่างลักษณะว่าเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ เป็นผลงานที่จำเป็นต้องศึกษารูปแบบ ลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่จะเขียนอย่างละเอียด ศิลปินอาจถ่ายทอดผลงานออกมาอย่างเหมือนของจริงโดยประสานความรู้สึกของตนเองออกมาด้วย เพื่อให้เกิดคุณค่าทางศิลปะ ใกล้เคียงธรรมชาติ แสดงเรื่องราวด้วยรูปแบบที่เหมือนจริงด้วยเทคนิค และวิธีการต่าง ๆ

2.  รูปแบบกึ่งนามธรรม เป็นผลงานศิลปะสากลที่แสดงรูปแบบจากธรรมชาติโดยนำสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติมาดัดแปลงใหม่ ด้วยวิธีลดตัดทอนรายละเอียดหรือบางส่วนที่ไม่ต้องการออก อาจจะเหลือเพียงเค้าโครงของสิ่งนั้น ๆ จึงเป็นงานศิลปะสากลอีกลักษณะหนึ่ง

3.  รูปแบบทางนามธรรม เป็นผลงานศิลปะสากลที่แสดงรูปแบบที่ไม่แสดงรูปทรงของวัตถุสิ่งของหรือเรื่องราวที่เป็นจริง ศิลปินจะสร้างสรรค์ขึ้นด้วยอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิด ให้เกิดรูปทรงอย่างอิสระ อาจจะแสดงออกถึงลีลา การเคลื่อนไหวด้วยเส้น รูปร่าง รูปทรง สี ฯลฯ ตามแนวความคิดจินตนาการของศิลปิน เรียกว่า “ศิลปะแบบนามธรรม” (Abstract Art)

                ศิลปะสากลที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นผลงานทางด้านวาดภาพหรือผลงานจิตรกรรม ยังมีผลงานศิลปะสากลที่เป็นผลงานทางด้านการปั้น หรือผลงานประติมากรรม และผลงานศิลปะสากลที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือผลงานทางสถาปัตยกรรมและภาพพิมพ์ ดังจะได้กล่าวต่อไป

                ประติมากรรมสากล เป็นประติมากรรมที่อาศัยดัดแปลงจากธรรมชาติ และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อย่างอิสรเสรี วัสดุที่นำมาใช้มีมากมาย ควรเป็นประติมากรรมที่แข็งแรง ถาวร เช่น โลหะ ไม้ หิน ฯลฯ

                สถาปัตยกรรมสากล เป็นศิลปะการก่อสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้าง การจัดและ/หรือตกแต่งบริเวณชุมชน หรือเมือง

                ภาพพิมพ์ (Graphic Art) เป็นศิลปะสากลที่มีคุณค่าตามความคิดสร้างสรรค์ ที่อาศัยพื้นฐานของการวาดเขียนเป็นหลักสำคัญประกอบเข้าด้วยกัน โดยการนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้ในการสร้างแม่พิมพ์และการนำหมึกหรือสีทาลงบนแม่พิมพ์ แล้วกดประทับลงบนวัตถุหรือสิ่งของที่ต้องการพิมพ์ จนเกิดเป็นผลงานศิลปะที่มีคุณค่าอีกลักษณะหนึ่ง





1 ความคิดเห็น: